ประวัติวัด


วัดมะลิ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๘๗ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ๓๗ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๒๘ ตารางวา รางวัดครั้งสุดท้ายวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ วัดมะลิมีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๕๓ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือยาว ๑๐๓ เมตร ติดต่อกับโรงเรียนและที่จัดสรร ทิศใต้ยาว ๘๖ เมตร ติดต่อกับคลองสาธารณะ ทิศตะวันออกยาว ๑๐๖ เมตร ติดต่อกับที่เอกชน ทิศตะวันตกยาว ๑๒๕ เมตร ติดต่อกับที่เอกชน

พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มแวดล้อมไปด้วยคลองสวนและที่จัดสรรของเอกชน อาคารเสนาสนะ มีอุโบสถกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๔ เมตร เป็นของเก่าหลังคา ๒ ชั้น ๓ ลด เดิมด้านหน้าและหลังเป็นแบบพาไลลาดลงมา ได้เปลี่ยนเป็นทรงหน้านาง เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒รวมกำแพงแก้วรอบอุโบสถ ขนาดกว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๓๕ เมตร มีกุฏิสงฆ์จำนวน ๕ หลัง คือ เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ๒ หลัง คือกุฏิเจ้าอาวาส ๕ ห้อง ๑ หลัง และกุฏิพักสงฆ์ ๑๙ ห้อง ๑ หลัง เป็นอาคารคอนกรีต ๓ ชั้น ๑ หลัง คือ กุฎิพักสังฆ์ ๒๕ ห้อง ๑ หลังเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ๒ หลัง คือ กุฏิพักสงฆ์ ๑ ห้อง ๒ หลัง ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น กว้าง ๑๗.๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร วิหาร ๑ หลัง ศาลาอเนกประสงค์ ๑ หลัง ศาลาประชุมสงฆ์ ๑ หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล หรือตั้งศพ ๒ หลัง อาคารโรงครัว ๑ หลังอาคารฌาปนสถาน (เมรุ) ๑ หลัง อาคารพระปริยัติธรรม และปฏิบัติธรรม ๑ หลัง กว้าง ๗ เมตร ยาว ๙ เมตร สูง ๔ ชั้นครึ่งสำหรับปูชนียวัตถุ มีพระประธานแบบสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย ปูนปั้นลงลักปิดทอง พร้อมด้วยอัครสาวก พระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวน ๙ องค์ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ และพระพุทธรูปศิลาแลงของเก่าประดิษฐานอยู่ในวิหาร ๑ องค์
วัดมะลิ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๑๕ ในสมัยกรุงธนบุรี หลังจากที่บ้านเมืองสงบจากข้าศึก ประชาชนได้ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินโดยปกติสุข ก็ได้สร้างวัดขึ้นมา ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง นามวัดอาจบ่งบอกถึงนามผู้สร้างวัดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด การพระราชทานวิสุงคามสีมาสันนิษฐานว่าคงจะได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๑ ประมาณ พ.ศ.๒๓๕๐

การศึกษา ทางวัดสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณร ศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี ภายในวัดหรือจากสำนักเรียนอื่นได้ตามอัธยาศัย นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการศึกษาของชาติ มีโรงเรียนวัดมะลิ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งทางวัดให้การอุปถัมภ์อยู่ด้วย










1 ความคิดเห็น: